ประวัติคะบุกิ 歌舞伎
คะบุกิ เป็นการแสดงที่พัฒนามาจากอิทธิพลของละครโน และการแสดงเคียวเง็น เริ่มต้นในช่วงสมัยเอโดะ คนที่แสดงเป็นคนแรก คือสตรีนามว่า อิสึโมะโนะโอะคุนิ (出雲阿国) ซึ่งเป็นมิโกะดูแลศาลเจ้า โดยการถือกระดิ่งซึ่งมีพู่แดงออกมาร่ายรำ การแสดงดังกล่าวเป็นที่ประทับใจคนดูมาก จึงเรียกการแสดงนี้ว่า โอะคุนิคะบุกิ (阿国歌舞伎) ในยุคแรกๆ นักแสดงจะเป็นหญิงล้วน เรียกว่า อนนะคะบุกิ (女歌舞伎) แต่เกิดปัญหาการขายตัว รัฐบาลจึงสั่งระงับการแสดง และเปลี่ยนไปใช้นักแสดง หนุ่มแทน เรียกว่า วะกะชุคะบุกิ (若衆歌舞伎) แต่เกิดปัญหารักร่วมเพศขึ้นจึงเปลี่ยนมาใช้นักแสดงชายที่มีอายุเรียกว่า ยะโรคะบุกิ (野郎歌舞伎)
ละครคะบุกิแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามยุคสมัยของเนื้อหาละคร
1. จิไดโมะโนะ (時代物) :คะบุกิเกี่ยวกับเรื่องย้อนยุคก่อนสมัยเอโดะ มักนำเอาเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาผูกเรื่อง มักเป็นเรื่องราวนักรบหรือไม่ก็ปีศาจ
2. เซะวะโมะโนะ (世話物) :คะบุเกี่ยวกับเรื่องราวของพ่อค้า หรือเรื่องราวรักใคร่ของหนุ่มสาวในสมัยเอโดะ
3. ชินซะกุโมะโนะ (新作物) :คะบุกิที่เป็นเรื่องราวแต่งขึ้นมาใหม่ตั้งแต่สมัยเมจิจนถึงปัจจุบัน
ลักษณะเฉพาะของคะบุกิ
การแสดง : การแสดงคะบุกิ เป็นการผสมผสานระหว่างการร้อง การรำ และดนตรีที่มีเครื่องดนตรี ชะมิเซ็น (三味線) ประกอบ ดังผู้แสดงต้องมีทักษะทั้งการรำ การร้อง รวมทั้งการเล่นดนตรีด้วย
นักแสดง : ผู้แสดงละครคะบุกิจะเป็นชายล้วน แม้บทผู้หญิง ผู้แสดงที่รับบทก็ต้องใช้นักแสดงชาย ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้ทักษะในการแสดงมาก นักแสดงต้องแสดงให้รู้สึกสมจริง (ต่างจากละครโนที่ใช้นักแสดงชายเช่นกัน หากได้รับบทหผู้ญิง นักแสดงโนไม่จำเป็นต้องแสดงท่าทางหรืออารมณ์ให้สมกับเป็นหญิง)นักแสดงคะบุกิ ผู้ที่แสดงรับบทผู้หญิงจะเรียกว่า อนนะกะตะ (女形) มีนักดนตรีหรือคนที่คอยร้องรับประสานเสียงเรียกว่า เดะกะทะริ (出語り) ผู้คุมเวทีจะเรียกว่า คุโระโคะ (黒子) มักแต่งกายด้วยชุดสีดำมีผ้าคลุมหน้าคล้ายนินจา ทำหน้าควบคุมทุกอย่างบนเวที รวมทั้งดูแลความปลอดภัยในการแสดง
เวที ฉาก และอุปกรณ์ประกอบฉาก : ผู้ชมคะบุกิ ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง ซามุไร หรือพ่อค้า ดังนั้นจึงจำเป็นตองสร้างแรงจูงใจหรือดึงดูดให้ผู้ชมเสียเงินเข้าชม เวทีและฉาก รวมทั้งอุปกรณ์ประกอบการแสดงของคะบุกิ จะมีความสมจริง สร้างให้แปลกตา มีการเปลี่ยนฉาก เวทีหมุนได้ ลักษณะคล้ายละครเวทีในปัจจุบัน
การแต่งหน้า : ละครคะบุกิมีเอกลักษณ์ที่ต่างจากการแสดงอื่นๆ เรียกว่า คุมะโดะริ ( 隈取) คือ การแต่งหน้านักแสดง โดยรองพื้นใบหน้าให้ขาว และแต้มด้วยสีแดง (สำหรับตัวละครที่เป็นฝ่ายดี และสีดำสำหรับตัวละครในฝ่ายร้าย)
ลักษณะสำคัญอีกประการของละครคะบุกิ คือ การแสดงที่มีลักษณะเฉพาะ ที่เรียกว่า อะระโกะโทะ ( 荒事) แปลว่า หยาบ กระด้าง หรือ คำคุยโว เป็นลักษณะการแสดงที่เน้นให้เห็นถึงอำนาจ และพละกำลังของชายชาตรี การแสดงจะมีลักษณะเกินจริง ทั้งการเปล่งเสียง การเคลื่อนไหว การแต่งกาย รวมทั้งการแต่งหน้า คุมะริ (隈取) ฉากต่อสู้จะเป็นลักษณะที่เด่นในการแสดงแบบ อะระโกะโทะ ( 荒事) เป็นลักษณะการแสดงที่ถือกำเนิดในแถบเอโดะ (โตเกียว) ส่วนการแสดงอีกลักษณะหนึ่ง เรียกว่า วะโกะโทะ (和事) เป็นลักษณะการแสดงที่เน้นความอ่อนหวาน พระเอกมักจะเป็นชายหนุ่มรูปงาม พราวเสน่ห์ แต่อ่อนแอ และเกือบจะเหมือนผู้หญิง ฉากรักจะเป็นลักษณะเด่นในการแสดงแบบ วะโกะโทะ (和事) การแสดงลักษณะนี้ถือกำเนิดในแถบเกียวโตและโอซาก้า
ที่มา: อ.วนัสนันทน์ สุกทน วิชาวิวัฒนาการวรรณคดีญี่ปุ่น สาขาภาษาญี่ปุ่นและการสื่อสาร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ความหมาย : อุบัติเหตุ